หน่วยงาน > ส่วนราชการ

กองประกันคุณภาพการศึกษา

ประวัติ

มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ดำเนินการด้านการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 โดยได้ประกาศนโยบายด้านการประกัน คุณภาพการศึกษาและประกาศแนวทางปฏิบัติในเรื่องนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2541 จากนั้นได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านการเผยแพร่และทำความเข้าใจ เรื่องการประกันคุณภาพกับประชาคม การฝึกอบรมและพัฒนา หลักเกณฑ์และวิธีการในการดำเนินงานประกันคุณภาพ

ในการดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษานั้นจำเป็นต้องมีคณะกรรมการหรือหน่วยงาน ในระดับต่าง ๆ ที่มีผู้รับผิดชอบการดำเนินงานอย่างชัดเจน ตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัยคือคณะกรรมการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย ซึ่งรับผิดชอบด้านนโยบาย การควบคุม และติดตามการดำเนินงาน จากนั้นคณะกรรมการประสานงานประกันคุณภาพการศึกษา เป็นคณะกรรมการดำเนินงานด้านนี้ โดยมีสำนักงานประกันคุณภาพการศึกษาเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบเป็นศูนย์กลางประสานงานและดำเนินงานหรือเป็นกลไกในการดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย สำนักงานประกันคุณภาพการศึกษา ได้รับความเห็นชอบในการจัดตั้งตามมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 2/2544 ลงวันที่ 7 มีนาคม 2544 ให้เป็นหน่วยงานภายในของมหาวิทยาลัย ปัจจุบันอยู่ในการบังคับบัญชาภายใต้รองอธิการบดีฝ่ายประกันคุณภาพการศึกษา

ความเป็นมาของผู้บริหารของสำนักงานประกันคุณภาพการศึกษา

1.รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ตั้งแต่ วันที่ 7 มีนาคม 2544
2.รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ ตั้งแต่ วันที่ 17 กันยายน 2544 – 21 มกราคม 2545
3.รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ตั้งแต่ วันที่ 21 มกราคม 2545 – 30 กันยายน 2545
4.รองอธิการบดีฝ่ายประกันคุณภาพการศึกษา ตั้งแต่ วันที่ 30 กันยายน 2545 - 30 เมษายน 2551
5. รองอธิการบดี(ประกันคุณภาพการศึกษา) ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2551 ถึงปัจจุบัน

วัตถุประสงค์

1.เป็นองค์ประกอบในการรักษามาตรฐานการศึกษาของมหาวิทยาลัย ศิลปากร โดยเน้นหลักการของการให้มหาวิทยาลัยมีระบบการควบคุมคุณภาพทางวิชาการ (Internal Quality Control) และปรับปรุงการปฏิบัติภารกิจทุก ๆ ด้านอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement) บนพื้นฐานของความมีเสรีภาพทางวิชาการ และอิสรภาพในการดำเนินงานที่สังคมหรือหน่วยงานภายนอกสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ อันจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างมาตรฐานทางการศึกษาที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้

2.เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัย ที่มุ่งเน้นให้มีการสร้างกลไกการควบคุมคุณภาพขององค์ประกอบต่าง ๆ ที่มีผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่เป็นรูปธรรมขึ้น

3.เพื่อให้การดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานภายนอกอย่างกว้างขวาง และเป็นการแสดงถึงความมีคุณภาพของการจัดการศึกษา ซึ่งมหาวิทยาลัยจะให้มีกลไกในการตรวจสอบและประเมินผล (Quality Audit and Assessment) ระบบการประกันคุณภาพการศึกษาที่มหาวิทยาลัยจัดให้มีขึ้นทั้งในระดับภาควิชา / คณะวิชา และหน่วยงาน แล้วให้มีการรับรองมาตรฐานการศึกษาต่อไป

เว็บไซต์

https://qa.su.ac.th/